ข้อมูลทั่วไปของจังหวัดนนทบุรี

คําขวัญจังหวัดนนทบุรี

พระตําหนักสง่างาม ลือนามสวนสมเด็จ เกาะเกร็ดแหล่งดินเผา วัดเก่านามระบือ เลื่องลือทุเรียนนนท์ งามน่ายลศูนย์ราชการ

ความเป็นมาของเมืองนนทบุรี        

        นนทบุรี ก่อตั้งมากว่า 400 ปี เดิมเป็นหมู่บ้านที่มีผู้คนอาศัยอยู่หนาแน่น  รู้จักกันในชื่อ  “บ้านตลาดขวัญ” ซึ่งเป็นดินแดนที่มีความอุดมสมบูรณ์  เนื่องจากอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาและเป็นสวนผลไม้ที่ขึ้นชื่อของกรุงศรีอยุธยา

        พ.ศ. 2092 สมเด็จพระมหาจักรพรรดิแห่งกรุงศรีอยุธยายกบ้านตลาดขวัญขึ้นเป็นเมืองนนทบุรี โดยตัวเมืองนนทบุรีแต่เดิมนั้นตั้งอยู่ที่ตำบลบางกระสอในปัจจุบัน โดยมีวัดหัวเมือง (ปัจจุบันเป็นวัดร้างที่ทางราชการได้ใช้เป็นสถานที่ตั้งโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า) เป็นเขตเหนือ และมีวัดท้ายเมืองเป็นเขตใต้

        พ.ศ. 2179 พระเจ้าปราสาททองทรงโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองลัดตอนใต้วัดท้ายเมืองไปทะลุออกหน้าวัดเขมา ทั้งนี้เพราะเดิมทีนั้นแม่น้ำเจ้าพระยาไหลวกวน โดยเข้าแม่น้ำอ้อมไหลมาทางบางใหญ่แล้ววกเข้าคลองบางกรวยข้างซอยวัดชะลอมาออกหน้าวัดเขมา ดังนั้นเมื่อขุดคลองลัดแล้วกระแสน้ำจึงเปลี่ยนทางเดินไหลเข้าคลองลัดที่ขุดใหม่ นานเข้าก็กลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาใหม่ในปัจจุบัน ส่วนแม่น้ำเจ้าพระยาเดิมก็ตื้นเขินกลายเป็นคลองไปในที่สุด และเมื่อคราวสมเด็จพระนารายณ์มหาราชขึ้นครองราชย์

        พ.ศ. 2208 พระองค์ทรงเห็นว่าเมื่อแม่น้ำเจ้าพระยาเปลี่ยนทางเดินทำให้ข้าศึกเข้าประชิดพระนครได้ง่ายขึ้น   จึงโปรดเกล้าฯ   ให้สร้างป้อมปราการตรงปากแม่น้ำอ้อม   และให้ย้ายเมืองนนทบุรีมาอยู่ปากแม่น้ำอ้อมในคราวเดียวกัน เมืองนนทบุรีจึงตั้งอยู่บริเวณปากแม่น้ำอ้อมตั้งแต่นั้นมา  จนกระทั่งถึงยุคสมัยของกรุงรัตนโกสินทร์  ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงโปรดฯ ให้รื้อป้อมและเมืองบางส่วนเพื่อนำอัฐ (เงิน)ไปสร้างวัดเฉลิมพระเกียรติ และบางส่วนก็ถูกกระแสน้ำพัดเซาะพังทลายลงน้ำไป ปัจจุบันจึงเหลือแต่ศาลหลักเมืองเท่านั้นนนทบุรี ได้รับการประกาศจัดตั้งเป็นจังหวัด เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2489

จังหวัดนนทบุรีในปัจจุบัน

        จังหวัดนนทบุรี ตั้งอยู่ในภาคกลาง บนฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นจังหวัด 1 ใน 5 ของจังหวัดปริมณฑล คือ นนทบุรี สมุทรปราการ นครปฐม สมุทรสาคร และปทุมธานี มีเนื้อที่ประมาณ 622.38 ตารางกิโลเมตร (เมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่ของจังหวัดในภาคกลางทั้งหมด จังหวัดนนทบุรีมีขนาดเล็กเป็นที่ 2 รองจากจังหวัดสมุทรสงคราม) โดยแม่น้ำเจ้าพระยาได้ตัดแบ่งพื้นที่ของจังหวัดออกเป็น 2 ส่วน คือ ฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก จังหวัดนนทบุรีอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 20 กิโลเมตร

        ประกอบด้วยอำเภอทั้งหมด 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองนนทบุรี อำเภอปากเกร็ด อำเภอบางบัวทอง อำเภอบางใหญ่ อำเภอบางกรวย และอำเภอไทรน้อย

         มีองค์กรปกครอง ท้องถิ่นประกอบด้วย องค์การบริหารส่วนจังหวัด 1 แห่ง เทศบาลนคร 2 แห่ง เทศบาลเมือง 10 แห่ง เทศบาลตำบล 10 แห่ง และองค์การบริหารส่วนตำบล 23 แห่ง พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม แต่เดิมประชาชนส่วนใหญ่มีอาชีพทำสวนผลไม้ และทำไร่ ทำนา ปัจจุบันพื้นที่ของจังหวัดซึ่งเคยเป็นสวนผลไม้ และมีอาณาเขตติดต่อกับกรุงเทพฯ เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงเป็นที่อยู่อาศัยของประชาชนที่อพยพมาจากทุกภาคของประเทศ นอกจากนี้ พื้นที่บางส่วนของจังหวัดในบางอำเภอยังเป็นที่รองรับการขยายตัวในด้านอุตสาหกรรม มีการจัดสรรที่ดิน และก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรม เป็นจำนวนมาก อาจกล่าวได้ว่าพื้นที่ฝั่งตะวันออกของจังหวัดซึ่งเป็นพื้นที่มีอาณาเขตติดต่อกับกรุงเทพฯ เป็นส่วนหนึ่งของกรุงเทพฯ ด้วย

        จังหวัดนนทบุรีได้รับการประกาศจัดตั้งเป็นจังหวัด เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 ใช้อักษรย่อว่า “นบ” และในปี พ.ศ. 2535 กระทรวงมหาดไทยได้ย้ายศาลากลางจังหวัดนนทบุรี และหน่วยงานราชการอื่นๆ จากท่าน้ำนนทบุรีไปตั้งอยู่ที่ศูนย์ราชการจังหวัดนนทบุรี ถนนรัตนาธิเบศร์ ตำบลบางกระสอ และใช้เป็นที่ทำการมาจนถึงทุกวันนี้

ลักษณะภูมิประเทศ

        จังหวัดนนทบุรีตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยมีแม่น้ำเจ้าพระยาแบ่งพื้นที่ของจังหวัดออกเป็น 2 ส่วน คือ ฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม มีคูคลองทั้งตามธรรมชาติและที่ขุดขึ้นใหม่เป็นจำนวนมากเชื่อมโยงติดต่อกัน สามารถใช้สัญจรไปมาระหว่างหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ ย่านชุมชนหนาแน่น โดยทั่วไปพื้นที่ห่างจากแม่น้ำและลำคลองจะเป็นสวนและไร่นา ซึ่งมักจะเกิดน้ำท่วมเสมอแต่ในปัจจุบันพื้นที่ของจังหวัดในบางอำเภอซึ่งเคยเป็นสวนผลไม้ต่างๆ และมีอาณาเขตติดต่อกับกรุงเทพมหานครเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงเป็นที่อยู่อาศัยของประชาชนที่อพยพมาจากทุกภาคของประเทศ นอกจากนี้พื้นที่บางส่วนของบางอำเภอยังเป็นที่รองรับการขยายตัวในด้านอุตสาหกรรม โดยเฉพาะพื้นที่บางส่วนของอำเภอเมืองนนทบุรี อำเภอปากเกร็ด อำเภอบางใหญ่ อำเภอบางบัวทอง ซึ่งมีการจัดสรรที่ดินและก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้น โดยอาจกล่าวได้ว่าพื้นที่ฝั่งตะวันออกซึ่งเป็นพื้นที่ติดต่อ กับกรุงเทพมหานครมีสภาพเหมือนกรุงเทพมหานคร

ลักษณะภูมิอากาศ

        จังหวัดนนทบุรีมีลักษณะภูมิอากาศเป็นแบบร้อนชื้นอยู่ภายใต้อิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ประกอบด้วย ฤดูฝน ฤดูหนาว และฤดูร้อน เนื่องจากลักษณะพื้นที่เป็นที่ราบลุ่มมีความแตกต่างของระดับพื้นดินเพียงเล็กน้อยสภาพภูมิอากาศจึงมีลักษณะค่อนข้างสม่ำเสมอตลอดพื้นที่ อุณหภูมิเฉลี่ยตามที่กรมอุตุนิยมวิทยารายงานอุณหภูมิเฉลี่ยต่ำสุด 25 °C และอุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุด 33.4 °C

ที่ตั้งและอาณาเขต

        จังหวัดนนทบุรี ตั้งอยู่ภาคกลางของประเทศไทยห่างจากรุงเทพมหานคร 20 กิโลเมตรมีเนื้อที่ประมาณ 622.38 ตารางกิโลเมตรหรือประมาณ 388,987.5 ไร่ ตั้งอยู่บนเส้นรุ้งที่ 13 องศา 47 ลิปดา  ถึงเส้นรุ้งที่ 14 องศา 04 ลิปดาเหนือ เส้นแวงที่ 100 องศา 15 ลิปดา ถึง 100 องศา 34 ลิปดาตะวันออก อยู่สูงจากน้ำทะเลปานกลาง เฉลี่ย 1.80 เมตร มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดใกล้เคียง ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ อำเภอลาดบัวหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธนา  , อำเภอลาดหลุมแก้ว และอำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี
  • ทิศตะัวันออก ติดต่อกับ เขตดอนเมือง  เขตหลักสี่  และเขตบางซื่อ  กรุงเทพมหานคร (ฝั่งพระนคร)
  • ทิศใต้ ติดต่อกับเขตบางพลัด  เขตตลิ่งชั่น และเขตทวีวัฒนา  กรุงเทพมหานคร (ฝั่งธนบุรี)
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ อำเภอพุทธมณฑลและอำเภอบางเลน  จังหวัดนนทบุรี

การปกครอง

        จังหวัดนนทบุรีแบ่งการปกครองส่วนภูมิภาคออกเป็น 6 อำเภอ 52 ตำบล 424 หมู่บ้าน 317 ชุมชน ประกอบด้วย อำเภอเมืองนนทบุรี อำเภอปากเกร็ด อำเภอบางบัวทอง อำเภอบางใหญ่ อำเภอบางกรวย และอำเภอไทรน้อย

หน่วยงานราชการส่วนท้องถิ่น

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรวมทั้งสิ้น 46 แห่ง ประกอบด้วย

  • องค์กรบริหารส่วนจังหวัด         1     แห่ง
  • เทศบาลนคร                          2     แห่ง
  • เทศบาลเมือง                        10     แห่ง
  • เทศบาลตำบล                     10     แห่ง
  • องค์การบริหารส่วนตำบล      23     แห่ง

ประชากรในจังหวัดนนทบุรี

        ประชากรของจังหวัดนนทบุรีประกอบไปด้วย ชนชาวไทยที่สืบเชื้อสายมาจากหลายเชื้อชาติ มีทั้งไทย จีน มอญ แขก ชนชาติไทยมีอยู่ทั่วไปทุกอำเภอ เป็นชนส่วนใหญ่ที่สุดของจังหวัด รองลงไปเป็นเชื้อสายจีนซึ่งสันนิษฐานว่าเข้ามาอยู่ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี นอกจากนี้ยังมีชนชาติที่อพยพเข้ามาภายหลักอีกสองเชื้อชาติ คือ ชาวไทยเชื้อสายมอญ และชาวไทยเชื้อสายมลายู อพยพมาอยู่ในจังหวัดนนทบุรีตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาสมัยกรุงธนบุรี ตลอดจนสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ดังปรากฏหลักฐานในหนังสืออักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทย ดังนี้ “… ในจังหวัดนี้มีชาวไทยที่สืบเชื้อสายมาจากมอญ อยู่มาแถวอำเภอปากเกร็ด ตั้งแต่ปากคลองบางตลาดฝั่งเหนือลำแม่น้ำเจ้าพระยา ด้านตะวันออกและตะวันตก ตำบลอ้อมเกร็ด เหนือเมืองนนทบุรี ขึ้นไป รวมทั้งเกาะเกร็ดด้วย มีชาวไทยที่สืบเชื้อสายมาจากมอญ ซึ่งอพยพเข้ามาพึ่งบรมโพธิสมภารในสมัยกรุงธนบุรี เมื่อ พ.ศ. 2317 คราวหนึ่ง กับเมื่อ พ.ศ. 2358 ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2 อีกคราวหนึ่ง เรียกว่ามอญใหม่โปรดให้แบ่งครอบครัวไปอยู่เมืองปทุมธานีบ้าง เมืองนนทบุรีบ้าง และเมืองนครเขื่อนขันธ์ ซึ่งบัดนี้เป็นอำเภอพระประแดง ขึ้นจังหวัดสมุทรปราการบ้าง ไทยยอิสลามที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลบางกระสอและที่บ้านตลาดแก้ว ในตำบลบางตะนาวศรี อำเภอเมืองนนทบุรี มีเชื้อสายเป็นชาวปัตตานี มาอยู่ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เฉพาะตำบลบางกระสอต้นตระกูลได้เป็นแม่ทัพนายกองคนสำคัญของไทยหลายคนไทยอิสลามตำบลท่าอิฐ อำเภอปากเกร็ด เป็นเชื้อสายชาวเมืองไทรบุรี เข้ามาอยู่ในรัชกาลที่ 3  ไทยชาวเมืองตะนาวศรีมีรายงานอำเภอสอบสวนได้ความว่า ได้เข้ามาตั้งภูมิลำเนาอยู่ที่ตำบลบางตะนาวศรี อำเภอเมืองนนทบุรีในรัชกาลสมเด็จพระที่นั่งสุริยาสอมรินทร์ พ.ศ. 2302 ครั้งทัพไทยตั้งรวมพล อยู่ที่แก่งตูม นอกเขตไทยต้นแม่น้ำตะนาวศรี พม่ายกทัพจะมาตีชาวตะนาวศรีก็หนีเข้ามา…”

        ปัจจุบันผู้ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดนนทบุรีนั้น  เป็นคนไทยที่อพยพมาจากทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ   ทั้งนี้เนื่องจากนนทบุรีเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีปริมาณการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงและด้วยเหตุที่เป็นหนึ่งในจังหวัดปริมณฑล ของกรุงเทพฯ ซึ่งนอกจากจะอยู่ใกล้กับกรุงเทพฯแล้ว ก็ยังคงความเป็นสังคมเมืองกึ่งชนบทอยู่ ชาวไทยทั่วทุกภูมิภาคจึงจะมาพักอาศัยอยู่ที่จังหวัดนนทบุรี เพื่อความสะดวกในการเดินทางเข้าไปทำงานในกรุงเทพฯ ดังนั้นความพลุกพล่าน ความหนาแน่นทั้งของประชากร และยวดยานพาหนะภายในจังหวัดนนทบุรี จึงไม่ต่างจากกรุงเทพฯ มากนักโดยเฉพาะอำเภอที่อยู่ติดกับกรุงเทพฯ ประชากรส่วนใหญ่ของจังหวัดนนทบุรี ร้อยละ 89.75 นับถือ ศาสนาพุทธ ร้อยละ 6.91 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 1.19 นับถือศาสนาคริสต์และศาสนาอื่นๆอีก ร้อยละ 2.15